คำแนะนำในการเขียนบทความที่ดี
ทนง โชติสรยุทธ์
บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)
จัดพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2524
การเขียนบทความ คือ อีกกลไกหนึ่งที่จะทำให้ท่านได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ ให้แก่คนในชาติได้ในวงกว้าง ลองทำตามคำแนะนำ แล้วท่านจะพบว่ามันไม่ยากอย่างที่เคยคิด และท่านก็จะกลายเป็นอีกทรัพยากรหนึ่ง ที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับสังคมไทย
การเขียนบทความนั้นเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เพราะการเขียนบทความก็คือ การใช้ตัวอักษรเป็นสื่อระหว่างผู้เขียนและผู้อ่าน เพื่อถ่ายทอดข้อความหรือสาระบางอย่างที่ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านได้รู้ได้เข้าใจ เพียงแต่ว่าความพยายามของผู้เขียนจะประสบผลสำเร็จอย่างที่ต้องการได้มากน้อยเพียงใดเท่านั้นเอง ถ้าประสบความสำเร็จ เราก็มักจะถือว่าเป็นบทความที่ดี
การเขียนบทความที่ดี ไม่ได้หมายความว่าจำเป็นต้องใช้ภาษาที่เลอเลิศ หรือใช้วลีที่หยดย้อยเหมือนอย่างในบทกวีหรือในนวนิยาย สิ่งที่เราต้องการมีเพียงว่า เป็นบทความที่อ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายและชัดเจนเพียงพอที่ผู้อ่านจะได้รับสาระอย่างที่ผู้เขียนต้องการ ดังนั้น แม้ว่าการเขียนบทความให้ดีจริง ๆ นั้น จะไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ได้ยากเย็นแสนเข็ญอย่างที่หลายท่านเคยคิดเอาไว้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา นักเขียนกว่า 80 % ที่เขียนบทความลงในวารสารไม่เคยเขียนบทความมาก่อนเลย และก็ไม่เคยมั่นใจมาก่อนว่าตนเองจะเขียนได้ดี แต่แรงดลใจที่อยากจะช่วยกันเผยแพร่ความรู้ อยากจะให้คนอื่นได้รู้ในสิ่งที่ตนรู้และคิดว่าเป็นประโยชน์ ตลอดจนการได้ทดลองเขียนและปรับปรุงข้อบกพร่องอยู่เสมอ ความเป็นนักเขียนที่ดีจึงถูก “สร้าง” ขึ้นมาได้เป็นผลสำเร็จ
ผมมั่นใจว่าคนส่วนใหญ่จะเขียนบทความได้ดีกันทั้งนั้น ถ้ามีคุณสมบัติขั้นต้นเพียง 3 ประการ
ประการแรก ต้องมีความตั้งใจ และกล้าที่จะเขียน
ประการที่สอง ต้องเต็มใจ และยินดีที่จะทำงานหนัก
ประการที่สาม ต้องรู้และปฏิบัติตามแนวทางบางอย่าง
ท่านทั้งหลายที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะมีคุณสมบัติ 2 ประการแรกโดยสมบูรณ์อยู่แล้วในตัว เพียงแต่ว่าบางท่านอาจจะยังไม่เคยเขียนบทความเชิงวิชาการเผยแพร่สู่นักอ่านทั่วไป และยังไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นการเขียนบทความอย่างไรดี
ทำไมจึงควรเขียนบทความ
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า แต่ละบุคคลต่างก็มีความสามารถที่จะเขียนบทความกันได้แทบทั้งนั้น แต่การที่ตั้งใจและลงมือเขียนขึ้นมาจนจบได้นั้น ก็มักจะต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นแรงกระตุ้น ในปัจจุบันมีแรงกระตุ้นหลายๆอย่างที่ช่วยให้ความรู้เชิงวิชาการกระจายออกไปในลักษณะบทความ แรงกระตุ้นที่ดูจะมีน้ำหนักมากกว่าอย่างอื่นได้แก่
เพื่อช่วยบุคคลอื่นที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน หรือเพื่อนร่วมอาชีพ ให้มีความรู้มากยิ่งขึ้น หรือให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
เพื่อช่วยสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับหน่วยงาน สถาบัน หรือบริษัทที่ตนสังกัดอยู่
เพื่อยกระดับฐานะทางอาชีพ และสร้างความก้าวหน้าให้แก่ตนเอง
เพื่อเพิ่มพูนความรู้ของตนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น (ในกรณีที่เขียนบทความที่ต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติมมากๆ)
เพื่อเพิ่มพูนรายได้
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเขียนด้วยแรงกระตุ้นใด หรือหลายแรงกระตุ้นก็ตาม และไม่ว่าการเขียนจะอยู่ในรูปการแปล การเรียบเรียง หรือการเขียนเองก็ตาม ขอเพียงแต่มีความจริงใจที่จะทำให้บทความนั้นมีสาระประโยชน์ต่อผู้อ่านแล้ว ก็ขอให้ตระหนักและภูมิใจได้ว่าท่านได้มีส่วนช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรในชาติได้อย่างมากมาย ลองนึกภาพดูซิครับว่า ถ้าบทความของท่านได้รับการเผยแพร่ออกไป ก็เท่ากับท่านได้ให้ความรู้ความคิดแก่คนพร้อมกันทีเดียวหลายพันคนขึ้นไป อย่างเช่น ถ้าลงในวารสารที่มีผู้นิยมอ่านกว่า 40,000 คน ก็เท่ากับถึงผู้อ่านมากกว่า 40,000 คน !
มีวิธีการอื่นใดบ้างไหม ที่ท่านจะมีโอกาสกระจายความรู้ออกไปถึงกลุ่มคนเจาะจงได้มากขนาดนี้
การเขียนบทความ จึงนับได้ว่าเป็นวิธีการเผยแพร่ความรู้ที่ได้ผลมากที่สุดวิธีหนึ่ง ดังนั้น อย่าได้รีรอเลยครับ มาเขียนบทความ และช่วยเพิ่มคุณภาพให้แก่คนในชาติเสียแต่บัดนี้กันเถิด
จะเขียนให้ใครดี
ท่านจะประสบความสำเร็จในการเขียนบทความได้ง่ายขึ้น ถ้าได้ทราบแเละเข้าใจว่าผู้อ่านของท่านคือใคร เขาสนใจอะไร และท่านจะเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านเหล่านั้นได้อย่างไร ดังนั้น ก่อนจะลงมือเขียนบทความขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง จึงควรกำหนดจุดเริ่มต้นเหล่านี้เสียก่อน
เลือกกลุ่มผู้อ่านที่ต้องการ ลองถามตนเองดูซิว่า อยากเผยแพร่ข้อเขียนของท่านให้ใครอ่าน มีหลายๆบทความที่ผู้อ่านส่วนใหญ่อ่านได้ แต่หลายๆบทความก็ต้องอาศัยพื้นฐานความรู้สูงในระดับหนึ่ง กำหนดลงไปให้แน่ชัดว่าผู้อ่านของท่านเป็นเด็กนักเรียน หรือครู หรือช่าง หรือประชาชนทั่วไป ต้องมีพื้นความรู้ในระดับไหน สาขาใด
เลือกหัวข้อที่เหมาะสม ควรเลือกเขียนหัวข้อที่ท่านมีความรู้มากที่สุด หรือเลือกหัวข้อที่เป็นความรู้ใหม่ๆ หรือหัวข้อที่ท่านมีอะไรดีๆ จะถ่ายทอดได้ ข้อสำคัญคือ จะต้องเป็นบทความที่ผู้อ่านจะสนใจอ่านด้วย
เลือกวารสารที่บริการผู้อ่านในข้อ 1 คำถามต่อไปคือ เราจะเผยแพร่บทความไปถึงมือผู้อ่านเหล่านั้นได้อย่างไร จะใช้อะไรเป็นสื่อกลาง หากสื่อนั้นเป็นวารสาร จะต้องหาทางทราบให้ได้ว่า เราควรจะส่งไปให้วารสารฉบับไหนดีจึงจะไปถึงกลุ่มผู้อ่านที่ต้องการได้มากที่สุด เพราะบทความแม้จะดีแต่ถ้านำไปลงในวารสารที่ไม่เหมาะสม อาจมีผู้อ่านเพียงไม่กี่คน คุณค่าของบทความก็จะไม่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้มากที่ควร ถ้าท่านเป็นหนอนหนังสืออยู่แล้วคงไม่ยากนักที่จะทราบ เพราะวารสารแต่ละฉบับมักจะมีนโยบายชัดเจนว่า จะบริการผู้อ่านกลุ่มไหน ในระดับใด
จัดแนวทางการเขียนให้เหมาะสม เพื่อให้บทความของท่านมีโอกาสได้รับการพิจารณานำลงในวารสารที่ต้องการได้มากขึ้นนั้น ควรจะศึกษารูปแบบ ลำดับการวางเนื้อเรื่องของวารสารฉบับนั้นให้ดีเสียก่อน จะได้จัดรูปแบบของบทความของท่านให้เหมาะสมยิ่งขึ้น วารสารบางฉบับอาจต้องการบทความในรูปแบบของงานวิชาการอย่างจริงจัย ต้องมีคำนำ ต้องมีรายชื่อหนังสืออ้างอิง เป็นต้น วารสารบางฉบับอาจต้องการเนื้อหาที่เจาะลึกในรายละเอียดมากกว่าฉบับอื่นๆ แต่ก็ยังต้องการวิธีการเขียนที่ชวนอ่านตั้งเเต่ต้นจนจบ เป็นต้น
บทความควรยาวเพียงใด
กล่าวโดยทั่วไปแล้ว บทความที่สั้นมักจะได้รับความสนใจมากกว่าบทความยาวๆ ดังนั้น บทความหนึ่งๆ ควรยาวพอที่จะถ่ายทอดข้อมูลต่างๆ ออกไป แต่ก็ไม่ควรยาวนัก บทความส่วนใหญ่ที่ได้รับการนำลงในวารสารมักจะอยู่ในช่วงราว 3-5 หน้าวารสาร แต่ถ้าบทความนั้นยาวและมีเนื้อหาที่น่าสนใจ กองบรรณาธิการของวารสารฉบับนั้นอาจจะแบ่งนำลงเป็นตอนๆไป หรือนำลงให้หมดเลยก็ได้
10 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จ
จุดประสงค์ของบทความวิชาการที่ดีก็คือ ถ่ายทอดข้อมูลมาสู่ผู้อ่านให้ได้รวดเร็วและเข้าใจได้ง่าย มีผู้เขียนหลายๆท่านไม่ประสบความสำเร็จอันนี้ ก็เพราะพยายามทำให้บทความดูเป็นจริงเป็นจังมากเกินไป เขียนเป็นทางการมากไปหน่อย ดังนั้น จึงไม่สามารถถ่ายทอดให้เข้าใจได้ง่ายเท่าที่ควร ลองปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ แล้วท่านจะทราบว่าการเขียนบทความไม่ได้ยากอย่างที่คิด
อย่าเป็นกังวล คนทุกคนเขียนบทความกันได้ทั้งนั้นหากจะไม่ไปกังวลกับมันมากเกินไปนัก เท่าที่เห็นมามักกังวลว่าจะเขียนได้ไม่ดี กังวลว่าเขียนไปแล้วคนที่เรียนสูงๆจะมาคอยจับผิด หรือบางทีก็กังวลว่าจะเขียนได้ไม่ภูมิฐาน จงทำใจให้ได้ว่าเราเขียนเฉพาะในเรื่องที่เรามั่นใจว่าเรารู้แล้ว เขียนในเรื่องที่เราเคยประสบมาเขียนในเรื่องที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้ทำประโยชน์ โดยเสนอข้อมูลที่เราคิดว่าถูกต้องที่สุดออกมา จงเขียนในทำนองเดียวกับที่ท่านพยายามจะอธิบายด้วยคำพูดให้ใครสักคนหนึ่งที่ไม่รู้เรื่องนี้ดีฟัง
เลือกหัวข้อที่จะเขียน บทความที่ดีก็คือ บทความที่สามารถอธิบายบางสิ่งบางอย่างที่ให้ประโยชน์ในแง่ใดแง่หนึ่งแก่ผู้อ่าน เช่น ให้ความรู้รอบตัว ให้ความรู้ที่นำไปใช้งานได้ ให้แนวความคิดที่น่าสนใจ เป็นต้น แต่ไม่ควรเป็นบทความที่เพียงตั้งใจแสดงว่าท่านมีความรู้สูงกว่าผู้อ่าน ดังนั้น ควรเลือกหัวข้อที่คิดว่าผู้อ่านจะสนใจและได้รับประโยชน์
วางแผนก่อน จุดนี้สำคัญมากสำหรับนักเขียนมือใหม่ การเขียนบทความนั้นไม่ยากนัก แต่มักจะมายากเอาตรงที่ไม่รู้จะเริ่มต้นเขียนอย่างไร เพราะใจมัวแต่กังวลอยากจะเขียนทีเดียวให้ใช้ได้เลยกว่าจะเขียนบรรทัดแรกหรือย่อหน้าแรกได้แต่ละที คิดแล้วคิดอีก อะไรๆ ก็มักจะไปเรียบเรียงอยู่ในสมองก่อน การเริ่มต้นจึงดูยากเย็นแสนเข็ญ พลอยทำให้ไม่ได้เริ่มต้นสักที มีหลักการเริ่มต้นง่ายๆ อยู่เพียงว่า ควรวางเค้าโครงหัวข้อย่อยต่างๆ ที่ต้องการจะเขียนลงในเศษกระดาษก่อน (ถ้าหัวข้อละแผ่นก็จะสะดวกขึ้น) ในแต่ละหัวข้อย่อยอาจจะมีใจความสำคัญที่ต้องการใส่ลงไป อาจเขียนออกมาเป็นท่อนๆ ก็ได้ คือ นึกจุดสำคัญหรือประโยคสำคัญอะไรได้ก็จับใส่ลงไปก่อน จากนั้นจึงค่อยมาจัดเรียงลำดับหัวข้อย่อยเหล่านั้น (ลำดับแผ่นกระดาษ) และประโยคสำคัญเหล่านั้นตามลำดับความต่อเนื่องที่ควรจะเป็น เช่น หัวข้อไหนควรอยู่ก่อนจึงจะอ่านเข้าใจง่าย ข้อสำคัญคือ ไม่ควรเอาส่วนปลีกย่อยขึ้นก่อน เพราะผู้อ่านจะเบื่อเร็ว ควรจะเอาหัวข้อที่กล่าวรวมๆ ขึ้นมาก่อน แล้วเก็บหัวข้อที่เน้นรายละเอียดเอาไว้ทีหลัง อย่าลืมว่าเนื้อเรื่องต้องเรียงลำดับต่อเนื่องกัน เพื่อให้ผู้อ่านลำดับความคิดและติดตามเรื่องได้ง่ายขึ้น มาถึงขั้นนี้ก็เหลือเพียงแต่ใส่รายละเอียดลงไปในแต่ละหัวข้อ และเพิ่มคำนำในตอนต้นเรื่องสักหน่อยก็เรียบร้อยแล้ว
ไม่ต้องเขียนรวดเดียวจบ ถ้าไม่ใช่นักเขียนอาชีพจริงๆ แล้ว ยากที่จะเขียนให้จบรวดเดียวได้ ควรเขียนเพียงครั้งละ 1 หรือ 2 หัวข้อที่สำคัญก็พอ อาจเขียนแต่ละหัวข้อแยกกระดาษกันคนละแผ่นเลยก็ได้ แล้วขยายแนวความคิดของแต่ละหัวข้อย่อยลงไปบนกระดาษ ไม่จำเป็นต้องเขียนเรียงตามลำดับหัวข้อ หัวข้อไหนที่ยากหรือยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนอย่างไรก็เก็บไว้ก่อน เขียนหัวข้อที่คิดว่าจะเขียนได้เร็วก่อน เขียนไปเขียนมาแล้วมักจะนึกออกเองว่าจะเขียนหัวข้อที่เหลือนั้นอย่างไร
เชื่อมโยงความคิดต่าง ๆ เข้าด้วยกัน หลังจากเขียนเนื้อความของหัวข้อสำคัญๆไปแล้ว ให้จัดเรียงกระดาษตามลำดับหัวข้อที่ได้วางแผนมาก่อน ลองอ่านทานดูว่ายังขาดข้อความอะไรมาเชื่อมโยงแต่ละหัวข้อเข้าด้วยกันหรือไม่ ถ้ายังขาดอยู่ก็อาจเพิ่มข้อความหรือเพิ่มหัวข้อเข้ามาอีก ให้ข้อความของแต่ละหัวข้อสัมพันธ์กัน ไม่ใช่ไปกันคนละเรื่อง ในการนี้อาจจะต้องเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงประโยคในตอนต้นหรือตอนท้ายของแต่ละหัวข้อไปบ้าง
ลงรูปที่จำเป็น บรรดากราฟ ตาราง โมโนแกรม หรือรูปสเก็ตช์ จะช่วยให้การอธิบายต่างๆง่ายขึ้นชัดเจนขึ้น และยังช่วยกระตุ้นความสนใจได้อีกด้วย แต่ละรูปควรมีคำอธิบายอยู่ใต้รูปด้วยว่าเป็นอะไร ใช้ทำอะไรหรือต้องการแสดงให้เห็นอะไร ถ้าเป็นรูปสเก็ตช์ก็ไม่จำเป็นต้องเขียนรูปให้วิจิตรบรรจงนัก เพราะเป็นหน้าที่แผนกศิลป์ของวารสารฉบับนั้นจะจัดการให้แลดูสวยงามเอง เพียงแต่ขอให้แน่ใจว่าท่านเขียนรูปเหล่านั้นชัดเจนเพียงพอ และไม่สับสน
ให้รูปและเนื้อหาสอดคล้องกัน ทุกครั้งที่ข้อเขียนอ้างถึงรูปก็ควรอ่านตรวจสอบด้วยว่า ข้อเขียนตรงกับข้อมูลในรูปหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ในบทความบอกว่าจากรูปที่ 1 อ้ตราการขยายตัวของยางสังเคราะห์ที่อุณหภูมิ 50 ° ซ มากกว่า 40 ° ซ อยู่ 1.1 เท่า ให้ตรวจสอบดูว่ากราฟในรูปที่ 1 แสดงอย่างนั้นจริงๆหรือเปล่า
ตรวจชื่อบทความและข้อความนำเรื่อง ถ้ายังตั้งชื่อบทความและเขียนข้อความในช่วงต้นๆเรื่องยังไม่เรียบร้อยดี ก็ให้ย้อนกลับไปใหม่ ผู้เขียนบางท่านอาจเขียนส่วนนี้ก่อน แต่บางท่านก็สะดวกที่จะเขียนทีหลังสุด เพราะเขียนตอนแรกอาจจะยังนึกข้อความนำเรื่องไม่ได้ ตรวจดูชื่อบทความและข้อความนำเรื่องว่าชี้นำผู้อ่านหรือเปล่าว่า บทความนี้ช่วยเขาได้อย่างไร ให้ประโยชน์อะไรกับเขา ไม่ใช่ว่าต้องให้อ่านจนจบเรื่องก่อนแล้วจึงจะทราบว่าบทความนี้เกี่ยวกับอะไร แล้วถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะมีข้อความตัวโตๆ สัก 1-2 บรรทัดโปรยอยู่ใต้ชื่อเรื่องเพื่ออธิบายคร่าวๆ ว่า บทความนี้เกี่ยวกับอะไร เป็นการจูงใจให้ผู้อ่านสนใจอ่านมากขึ้น
แก้สำนวน ในขั้นนี้ต้องทำใจเป็นผู้อ่านให้ได้ ลองอ่านทบทวนบทความของท่านให้ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ ดูว่าเนื้อหาพุ่งเข้าหาเป้าหมายตรงจุดหรือไม่ มีสำนวนที่อ่านแล้วกำกวมหรือไม่ มีศัพท์บางคำหรืออักษรย่อบางตัวที่ผู้อ่านจะไม่เข้าใจบ้างหรือไม่ ซักตัวเองไปเรื่อยๆ จนกระทั่งแก้ไขได้บทความที่คิดว่าคลุมเครือน้อยที่สุด ถ้าไม่แน่ใจตัวเอง ลองขอให้เพื่อนสักคนหนึ่งซึ่งรู้เรื่องนั้นน้อยกว่ามาลองอ่านดู ดูซิว่าเขาสามารถเข้าใจได้ตลอดทั้งเรื่องหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ลองหาทางแก้ไขให้ดีขึ้น
เขียนคำสรุป ไม่จำเป็นต้องขึ้นหัวข้อย่อยอีกอันว่า “สรุป” หรอก เมื่อใดที่เนื้อหาหมดแล้วก็นั่นแหละที่สิ้นสุดบทความแล้ว อันที่จริงข้อความที่คุณคิดจะสรุปนั้นควรจะใส่ในข้อความนำตอนต้นเรื่องไปหมดแล้ว
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
นอกเหนือจาก 10 ขั้นตอนใหญ่ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกหลายอย่างที่อาจจะช่วยให้บทความของท่านน่าอ่านยิ่งขึ้น และชัดเจนขึ้น ดังนั้น ก่อนจะส่งบทความไปไหนต่อไหน ลองกัดฟันอ่านทวนอีกสักเที่ยวดูซิว่า ยังมีอะไรควรแก้ไขตามคำแนะนำต่อไปนี้อีกบ้างไหม
ตั้งชื่อบทความให้น่าอ่าน การเริ่มต้นที่จะสามารถดึงดูดผู้อ่าน ชวนให้ติดตามอ่านได้ง่ายขึ้น การเริ่มต้นที่ดีนั้นควรเริ่มกันตั้งแต่ชื่อบทความกันเลย แล้วตามด้วยข้อความย่อหน้าแรก และหัวข้อย่อยในบทความ ทั้งหมดนี้ควรจะบอกผู้อ่านได้ทันทีว่าบทความนั้นสำคัญอย่างไร น่าสนใจอย่างไร และจะให้ประโยชน์อะไร ลองดูตัวอย่างชื่อบทความเหล่านี้อาจจะช่วยท่านตั้งชื่อบทความได้บ้าง : 18 วิธีในการทำลายแอร์หน้าต่าง, เชื่อมอย่างไรจึงจะไม่บิด, ยาไขความจริง, กระเทียม : พืชมหัศจรรย์, ความลับของมันฝรั่ง, ยุทธการล่าหิ่งห้อย, วาระสุดท้ายของดวงอาทิตย์, อาหารสำหรับอนาคต, ชีวิตหลังความตาย, วิเคราะห์สามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า, ควันหลงจากสำรวจดวงจันทร์, สู่วัยอันเป็นอมตะ, ท่องไปกับยานขนส่งอวกาศ, วิธีเล่นให้เป็นแชมป์, ฯลฯ
ไม่ควรให้ข้อความของแต่ละย่อหน้ายาวเกินไป ถ้ายาวมากไป สายตาผู้อ่านจะล้าเร็ว ยิ่งถ้ายาวมากๆ กว่าผู้อ่านจะกลั้นลมหายใจอ่านจนจบได้ก็แทบหน้ามืดตาลาย โดยทั่วไปอาจถือเป็นเกณฑ์หยาบๆ ได้ว่าแต่ละย่อหน้าไม่ควรยาวเกินกว่า 15 ถึง 20 บรรทัด ถ้าเขียนบทความเสร็จแล้วพบว่ามีท่อนใดที่ยาวเกินไปลองอ่านทานดูซิว่ามีช่วงใดที่พอจะตัดตอนให้ขึ้นย่อหน้าใหม่ได้หรือไม่
แบ่งเป็นหัวข้อย่อย ถ้าบทความยาวพอสมควร ควรแบ่งเป็นหัวข้อย่อย เพื่อให้ผู้อ่านได้พักสายตาเป็นระยะๆ นอกจากนั้นแล้ว หัวข้อย่อยยังช่วยให้มีจุดสนใจขึ้นมาเป็นช่วง และช่วยให้ผู้อ่านกวาดสายตาหาท่อนหรือเนื้อหาที่เขาสนใจได้เร็วขึ้น ในกรณีที่ต้องการผ่อนคลายความจริงจังของบทความ หรือความเครียดของผู้อ่านลง ก็อาจจะตั้งชื่อหัวข้อย่อยให้ดูน่าอ่านขึ้น โดยถือเอาข้อความใดข้อความหนึ่งในหัวข้อนั้น หรือหาข้อความที่สามารถแสดงว่าหัวข้อนั้นเกี่ยวกับอะไร แต่อ่านแล้วครึกครื้น มาตั้งเป็นชื่อหัวข้อย่อยก็ได้ ตัวอย่างเช่น ในบทความเรื่องหนึ่งที่อธิบายเกี่ยวกับเทคนิคการกราวด์ในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นบทความที่ยาวมาก และขณะอ่านนั้นผู้อ่านต้องใช้ความคิดตามไปตลอดเวลา ผู้เขียนจึงลดความเครียดลง โดยการแบ่งเป็นหัวข้อย่อยแต่ละหัวข้อย่อยยาวโดยเฉลี่ยไม่เกินครึ่งหน้า
ลองดูชื่อหัวข้อย่อยที่เขาตั้งเรียงตามลำดับต่อไปนี้ซิครับ อาจได้แนวทางไปใช้งานกันบ้าง : กราวด์คืออะไร ?, ไม่จำต้องเป็นศูนย์, มารร้ายในวงการอิเล็กทรอนิกส์, เหตุแห่งสัญญาณรบกวน, ยามเมื่ออยู่ใกล้ชิด, ระวังส่วนที่มีกระแสไหลมาก, ปัญหาจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า, เมื่อกราวด์ไม่ใช่กราวด์, จุดเริ่มต้นของการแก้ไข, ใส่เกราะให้สายสัญญาณ, หม้อแปลงก็มีชีลด์, ฝืมือพี่ไทย, กราวด์เป็นพระเอกในที่นี้, จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ, เราจะไม่ขออยู่ร่วมกัน, หาผู้ต้องสงสัยในระบบ... หรือจะเป็นด้วยกราวด์ลูป, ตำแหน่งการวางก็มีผล, ยังไม่จบเรื่องง่ายๆ เป็นต้น
ขีดเส้นใต้หรือข้อความที่ต้องการจะเน้น แต่ไม่ควรเน้นมากเกินกว่าที่จำเป็นจริงๆ มิฉะนั้นผู้อ่านจะรำคาญ
ใช้ศัพท์เทคนิคเท่าที่จำเป็น และพยายามใช้ภาษาอังกฤษให้น้อยที่สุด ไม่ใช่เขียนมาย่อหน้าหนึ่งมีแต่ภาษาอังกฤษลานตา จนผู้อ่านขยาดกันไปหมด ศัพท์เทคนิคคำใดแปลเป็นภาษาไทยได้ก็แปลไปเลย เช่น Air Conditioner ก็แปลว่า เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น แต่ถ้าแปลแล้วไม่แน่ใจว่าผู้อ่านจะเข้าใจได้ถูกต้องก็ควรวงเล็บภาษาอังกฤษไว้ด้วย เว้นแต่จนแต้มจริงๆไม่รู้ว่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่าอะไรดี ก็ให้ทับศัพท์เป็นภาษาไทยแล้ววงเล็บภาษาอังกฤษกำกับไปอีกทีหนึ่ง เช่น Transducer ก็อาจเขียนว่า ทรานสดิวเซอร์ (transducer)เป็นต้น ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้ผู้อ่านที่ไม่สันทัดภาษาอังกฤษสามารถอ่านได้รู้เรื่อง และเลียนคำอ่านภาษาอังกฤษได้ หากมีคำศัพท์ใดซ้ำก็ควรวงเล็บเพียงครั้งเดียวในตอนแรก
ตีกรอบแยกส่วนเนื้อหา ถ้ามีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวข้องกับบทความ แต่ไม่สามารถเชื่อมเข้าไปในบทความโดยตรง อาจแยกออกมาจากเนื้อเรื่องปกติได้โดยตีกรอบล้อมรอบเนื้อหาส่วนนั้นเอาไว้ ลองดูวารสารต่างประเทศจะพบทำนองนี้บ่อย
อย่าให้หวือหวามากเกินไป แม้ว่าการแทรกอารมณ์ขัน การใช้ศัพท์แสลง จะช่วยผ่อนคลายความเครียดขณะอ่านไปได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ควรใช้มากเกินไปจนบทความเชิงวิชาการกลายเป็นบทความหวือหวา ที่อ่านเอาแต่ความสนุกถ่ายเดียว
พยายามใช้คำธรรมดาง่ายๆ ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายและยังคงความถูกต้องอยู่ได้ ตัวอย่างเช่น “....เราจะวัดความต่างศักย์ของสายไฟบ้านได้ 220 โวลต์....” ชาวบ้านคงจะงงกับคำว่า “ความต่างศักย์” ซึ่งเป็นศัพท์วิชาการ ในกรณีเช่นนี้การใช้คำว่า “แรงดันไฟฟ้า” คงอ่านเข้าใจได้ดีกว่า
ใช้ประโยคกระชับ ไม่กำกวม พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ประโยคยาวๆ ที่ดูยืดยาด และประโยคซ้อนประโยคที่อาจทำให้เข้าใจความหมายผิดไป ตัวอย่างเช่น “....นักเรียนส่วนใหญ่รู้สึกว่าไม่อยากเรียนหนังสือที่ยุ่งยากซับซ้อนจนทำให้เขาต้องตกชั้น....” ประโยคนี้ผู้อ่านอาจตีความหมายได้ 2 อย่างคือ นักเรียนส่วนใหญ่ตกชั้นเพราะรู้สึกไม่อยากเรียนหนังสือที่ยุ่งยากซับซ้อน หรือ นักเรียนรู้สึกว่าไม่อยากเรียนหนังสือที่ยุ่งยากซับซ้อนซึ่งอาจทำให้เขาตกชั้น ดังนั้น เมื่อพบว่ามีประโยคกำกวมเช่นนี้ ก็จะต้องทำให้ชัดเจนขึ้น
ให้เป็นเหตุเป็นผลตามลำดับที่ควรจะเป็น ตัวอย่างเช่น “....เนื่องจากสบู่นี้สีฟ้า การขายจึงไม่ดีนัก....” ผู้อ่านคงสงสัยแน่ๆว่าสีฟ้าไปมีผลอย่างไร จึงทำให้การขายไม่ดี อย่างนี้ควรหาทางขยายความอีกนิด
เนื้อหาใช้ได้กับปัจจุบันหรือไม่ ? ลองพิจารณาดูว่ามีข้อมูลใดที่อาจจะไม่เป็นจริงแล้วหรือไม่ อย่างเช่น ถ้าท่านเขียนบทความเกี่ยวกับดาวเสาร์ คงต้องติดตามกันหน่อยว่ามีข้อมูลส่วนไหนที่ล้าสมัยไปบ้างหรือไม่ หรืออย่างเช่น ท่านเขียนว่าเยอรมันก้าวหน้าที่สุดในด้านเทคโนโลยี ท่านมั่นใจว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า เยอรมันอาจจะก้าวหน้าเพียงบางสาขาเท่านั้น
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อส่งบทความไปให้นำลง
เอาละ ตอนนี้ท่านก็ได้พยายามแก้ไขบทความจนสมบูรณ์ที่สุดในความคิดของท่านแล้ว จะเก็บเอาไว้เฉยๆ ก็กระไรอยู่ จัดแจงส่งไปถึงบรรณาธิการวารสารที่ต้องการได้เลย จะใช้วิธีไปส่งด้วยตนเอง หรือจะส่งทางไปรษณีย์ก็ได้ ถ้าเป็นไปรษณีย์ละก็ควรลงทะเบียนด้วย จะได้แน่ใจว่าถึงมือบรรณาธิการแน่ๆ ไม่สูญหายกลางทางเสียก่อน แต่ถ้าสงสัยว่าส่งไปแล้วเขาจะสนใจหรือไม่ ขอแนะนำให้ตัดความสงสัยนี้โดยการโทรศัพท์ไปคุยกับตัวบรรณาธิการเลยว่า ผมมีบทความชื่อนั้นชื่อนี้ เกี่ยวกับอะไร ยาวประมาณเท่านั้นเท่านี้หน้า คุณบรรณาธิการสนใจไหมครับ ถ้าเขาบอกว่าสนใจและเชิญชวนให้ส่งมา ก็คงไม่มีปัญหาอะไรส่งไปได้เลย แล้วอย่าลืมเขียนชื่อที่อยู่ ที่ทำงาน และวิธีติดต่อที่คิดว่าจะติดต่อกันได้สะดวกแนบไปด้วย
เมื่อบรรณาธิการของวารสารฉบับนั้นได้รับบทความแล้ว เขาอาจจะพิจารณาเองหรือมอบหมายให้คนในกองบรรณาธิการซึ่งสันทัดในเรื่องประเภทนั้นช่วยพิจารณาให้ หลังจากพิจารณาแล้ว ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ 10 นาที จนถึงเป็นเดือนแล้วแต่ระบบงานของวารสารฉบับนั้น เขาจะส่งจดหมายหรือโทรศัพท์ (ถ้าท่านมี) แจ้งผลการพิจารณาให้ทราบ ซึ่งท่านอาจจะได้รับคำตอบใดคำตอบหนึ่งดังนี้
1. บทความไม่ผ่านการพิจารณา หรือ
2. บทความควรแก้ไขดัดแปลงบางตอน หรือ
3. บทความผ่านการพิจารณา
บทความที่ไม่ผ่านการพิจารณาเลยจะถูกส่งกลับคืนไปให้ เหตุผลที่ไม่ผ่านนั้นอาจจะเป็นว่าเนื้อหาไม่เหมาะสมกับผู้อ่านวารสารฉบับนั้น อาจจะเป็นเนื้อหาที่เคยนำลงแล้ว อาจจะเป็นเนื้อหาที่ล้าสมัย และไม่นิยมที่จะมาพิจารณาตามเนื้อหาในบทความนั้นแล้ว อาจจะเป็นบทความที่เหมาะจะเป็นตำราเรียนมากกว่าเพราะยาวเหยียด หรือมีแต่พิสูจน์สูตรกันท่าเดียว หรืออาจจะเป็นบทความที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการวารสารฉบับนั้นอ่านเข้าใจเลย
บางบทความอาจจะดีมาก แต่ยังคงมีบางส่วนที่ยังไม่เหมาะสม เช่น อาจจะมีจุดบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้เขียนอาจจะมองข้ามไป เพราะอยู่หรือคุ้นเคยกับปัญหานั้นมากไป แต่กองบรรณาธิการคาดว่าผู้อ่านคงอยากจะทราบ หรืออาจจะมีบางข้อความไม่ชัดเจนพอ ในกรณีนี้ เขาอาจจะขอให้ท่านช่วยแก้ไขบางข้อความ หรือให้เพิ่มเติมบางส่วน เพื่อให้แน่ใจว่าบทความของท่านจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านของเขามากขึ้น
ถ้าบทความของท่านผ่านการพิจารณา เขาก็จะแจ้งให้ทราบด้วยเช่นกัน และอาจกำหนดให้ท่านด้วยว่าจะนำลงให้ได้ในฉบับไหน หรือเดือนไหน อย่างไรก็ตาม แม้บทความของท่านจะสมบูรณ์พอสมควร กองบรรณาธิการอาจขอสิทธิในการตั้งหรือดัดแปลงชื่อบทความให้น่าอ่านขึ้น หรืออาจจะเพิ่มเติมข้อความสั้นๆโปรยใต้ชื่อบทความ หรือแก้ไขสำนวนบางท่อนให้ถูกต้องตามหลักภาษา หรือเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น บางทีถ้าบทความยาวมาก เขาก็อาจจะแบ่งออกเป็นตอนๆตามความเหมาะสม
หลังจากที่บทความนั้นได้รับการตีพิมพ์แล้ว กองบรรณาธิการมักจะไม่ส่งต้นฉบับกลับคืนมาให้ เพราะความไม่สะดวกหลายประการ แต่จะส่งวารสารฉบับที่นำลงแล้วนั้นมาให้แทน พร้อมกับส่งค่าสมนาคุณมาให้ด้วยทางธนาณัติ ซึ่งมูลค่าจะมากหรือน้อยแล้วแต่กิจการของวารสารนั้นๆ
มาถึงย่อหน้าเกือบท้ายนี้ ท่านคงได้อะไรๆเป็นแนวทางขั้นต้นไปแล้วว่าจะเริ่มต้นเขียนบทความที่ดีได้อย่างไร และเขียนแล้วจะให้ได้รับการเผยแพร่อย่างไร
ดังนั้น หากมีเวลาว่างเมื่อใด ก็อย่าลืมลองจับขยับปากกาขีดเขียนบทความในแนวที่ท่านถนัดดูบ้าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น